ประเทศไทย : ผู้หญิงในเรือนจำ ‘ต้นแบบ’ มีสภาพชีวิตต่ำกว่ามาตรฐานระหว่างประเทศ จากข้อค้นพบในรายงานใหม่

11/12/2019
Rapport
en th

(กรุงเทพฯ ปารีส) สภาพในเรือนจำ ‘ต้นแบบ’ ส่วนใหญ่ของไทย ต่ำกว่ามาตรฐานระหว่างประเทศ จากข้อมูลในรายงานที่เผยแพร่ในวันนี้ของ FIDH และองค์กรสมาชิกในประเทศไทย สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

รายงาน “Flawed models - Implementation of international standards in Thailand’s ‘model’ prisons for women,” (ต้นแบบชำรุด - การดำเนินงานตามมาตรฐานระหว่างประเทศในเรือนจำ ‘ต้นแบบ’ เพื่อผู้ต้องขังหญิงของไทย) เป็นผลมาจากการเข้าเยี่ยมเรือนจำ ‘ต้นแบบ’ เก้าแห่งจาก 12 แห่ง ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2561 โดยทีมงานจาก FIDH และสสส. กรมราชทัณฑ์กำหนดให้ทัณฑสถานหญิง 12 แห่งเป็นเรือนจำ ‘ต้นแบบ’ โดยอ้างว่าเป็นการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จตามข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิงแห่งสหประชาชาติ (United Nations (UN) Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-custodial Measures for Women Offenders หรือ ‘ข้อกำหนดกรุงเทพฯ’)

“การกำหนดให้เป็นเรือนจำ ‘ต้นแบบ’ เป็นความพยายามอย่างเปิดเผยที่จะปกปิดสภาพความจริงที่น่ากลัวของผู้ต้องขังหญิงในไทย สภาพในเรือนจำเหล่านี้ไม่ได้ใกล้เคียงกับมาตรฐานขั้นต่ำระหว่างประเทศเลย เราจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า เรือนจำที่ไม่ถือว่าเป็น ‘ต้นแบบ’ จะมีสภาพเลวร้ายมากเพียงไร”

Guissou Jahangiri รองประธาน FIDH

ข้อกังวลสำคัญยังคงเป็นเรื่องความแออัด ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแทบทุกเรือนจำของไทย และส่งผลกระทบด้านลบต่อสภาพด้านอื่น ๆ ของเรือนจำ เมื่อ FIDH/สสส. เริ่มต้นเข้าเยี่ยมเรือนจำในเดือนเมษายน 2561 อัตราการคุมขังในทุกเรือนจำ ‘ต้นแบบ’ เก้าแห่งยังอยู่ในระดับสูง มากถึง 652% นับแต่นั้นมา จำนวนผู้ต้องขังรวมกันในเรือนจำทั้งเก้าแห่งยังเพิ่มขึ้นอีก 6%

ประเด็นสำคัญด้านอื่นซึ่งเป็นข้อบกพร่องและปัญหาที่เราสังเกตเห็น ได้แก่ การให้บริการพิเศษสำหรับผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์และผู้ต้องขังหญิงที่มีลูกอ่อน น้ำและสุขอนามัย รวมทั้งการขาดผ้าอนามัยและอุปกรณ์อาบน้ำในเรือนจำหลายแห่ง คุณภาพของอาหาร บริการการดูแลสุขภาพ รวมทั้งสุขภาพจิต สภาพการใช้แรงงานผู้ต้องขัง การติดต่อกับโลกภายนอก และโอกาสที่จะได้รับนันทนาการ ประการสุดท้าย การลงโทษและการลงโทษทางวินัยที่ใช้กับผู้ต้องขังมักไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำระหว่างประเทศ และในบางกรณีอาจถึงขั้นเป็นการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย

รายงานนี้นำเสนอข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรม เฉพาะเจาะจงและปฏิบัติได้หลายประการ ซึ่งกรมราชทัณฑ์ควรนำไปปฏิบัติเพื่อปรับปรุงสภาพของผู้หญิงในเรือนจำทั่วประเทศ การดำเนินงานตามข้อเสนอแนะเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็น แต่อาจยังไม่สามารถแก้ไขต้นเหตุของสภาพที่เลวร้ายในเรือนจำได้ รัฐบาลไทยจำเป็นต้องมีเจตจำนงทางการเมืองที่จะยอมรับและนำมาตรการเชิงนโยบายที่สำคัญมาใช้ เพื่อลดจำนวนประชากรในเรือนจำของประเทศ มาตรการเหล่านี้ควรรวมถึงการลดการเอาผิดทางอาญากับความผิดด้านยาเสพติดบางประเภท การอนุญาตให้จำเลยได้รับการประกันตัวระหว่างรอการพิจารณาสำหรับความผิดบางประเภท และการใช้วิธีควบคุมตัวนอกเรือนจำประกอบกับการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว

“ประเทศไทยต้องดำเนินงานอย่างกล้าหาญที่จะปฏิรูประบบยุติธรรมทางอาญา เพื่อแก้ปัญหาความแออัดที่ร้ายแรงของเรือนจำ สุดท้ายแล้วทั้งคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และศาล ไม่รวมถึงฝ่ายบริหารของเรือนจำ มีอำนาจที่จะจัดทำมาตรการทางออกที่มีผลกระทบระดับสูงและในวงกว้างได้”

แดนทอง บรีน ที่ปรึกษาอาวุโสของสสส. ซึ่งเข้าร่วมในการเข้าเยี่ยมเรือนจำ ‘ต้นแบบ’ ของ FIDH/สสส.
Lire la suite